เงินเฟ้อและการแก้ปัญหาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เลขชุดเอกสาร: DAC005
ชื่อชุดเอกสาร: เงินเฟ้อและการแก้ปัญหาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงปีของชุดเอกสาร: 2487-2493
บทคัดย่อเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ประเทศไทยในฐานะที่เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในการสงคราม จึงถูกนับรวมเป็นผู้แพ้สงครามด้วย แม้ว่ารัฐบาลไทยได้ประกาศว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย และรัฐบาลยินดีร่วมมือกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพโลก ยกเลิกกติกาสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น และพร้อมที่จะคืนดินแดนต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นมอบให้ครอบครองระหว่างสงครามให้แก่สหราชอาณาจักร ฯลฯ แล้วก็ดี แต่ก็ยังมิอาจยกเลิกสถานะสงครามกับสหราชอาณาจักรได้โดยง่าย ในที่สุดหลังจากการเจรจากันอย่างเคร่งเครียด จึงได้ทำ ‘ความตกลงสมบูรณ์แบบ’ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 ตามความตกลงนี้ สถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรและอินเดียเป็นอันสิ้นสุดลง แต่ประเทศไทยต้องรับผิดชอบ และมีพันธะผูกพันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของ สหราชอาณาจักร เช่น การรับผิดชอบคืนทรัพย์สิน สิทธิประโยชน์ทุกชนิดของฝ่ายสหราชอาณาจักรในประเทศไทย และอาณาเขตที่เข้าครอบครองในระหว่างสงคราม การชดใช้ค่าทดแทนส่วนที่วินาศเสียหาย การใช้คืนเงินกู้และเงินบำนาญที่ค้างจ่ายพร้อมทั้งดอกเบี้ย การส่งข้าวสารโดยไม่คิดมูลค่าเป็นจำนวน 1 ล้าน 5 แสนตัน เป็นต้น

ดังนั้น แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้ว และภาระค่าใช้จ่ายทางการทหารของญี่ปุ่นก็หมดสิ้นไป แต่ประเทศไทยยังคงมีภาระใหม่ดังที่กล่าวข้างต้นขึ้นมาแทนที่ อีกทั้งยังต้องฟื้นฟูบูรณะประเทศภายหลังสงครามให้กลับสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม หลังจากสิ้นสุดสงครามก็เป็นการเปิดประตูสำหรับติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ อีกครั้ง หลังจากที่ตัดขาดการติดต่อไปในช่วงสงคราม การค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศเติบโตขึ้น เห็นได้จากปริมาณการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งจำนวนกิจการพาณิชย์ต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น (ตามเอกสารเลขที่ DAC005-000-001 เรื่อง การพาณิชย์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ซึ่งได้ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราของประเทศมีสูงขึ้น และระบบเศรษฐกิจการเงินกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (ตามเอกสารเลขที่ DAC005-000-002 เรื่อง ปริมาณเงินหมุนเวียนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)

สรุปย่อยภาวะเศรษฐกิจการเงินภายหลังสงคราม
• ภาระค่าใช้จ่ายทางการทหารของญี่ปุ่นก็หมดสิ้นไป แต่ประเทศไทยต้องรับผิดชอบ และมีพันธะผูกพันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของ สหราชอาณาจักร เช่น
o การรับผิดชอบคืนทรัพย์สิน
o สิทธิประโยชน์ทุกชนิดของฝ่ายสหราชอาณาจักรในประเทศไทย และอาณาเขตที่เข้าครอบครองในระหว่างสงคราม
o การชดใช้ค่าทดแทนส่วนที่วินาศเสียหาย
o การใช้คืนเงินกู้และเงินบำนาญที่ค้างจ่ายพร้อมทั้งดอกเบี้ย
o การส่งข้าวสารโดยไม่คิดมูลค่าเป็นจำนวน 1 ล้าน 5 แสนตัน
• หลังจากสิ้นสุดสงครามก็เป็นการเปิดประตูสำหรับติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ อีกครั้ง
o การค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศเริ่มฟื้นตัวและเติบโตขึ้น
DAC005-000-001 เรื่อง การพาณิชย์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
o ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราของประเทศมีสูงขึ้น และระบบเศรษฐกิจการเงินกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
DAC005-000-002 เรื่อง ปริมาณเงินหมุนเวียนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
/ 1
/ 1